วันจันทร์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2559

การสวดธัมมจักกัปปวัตนสูตร

การสวดธัมมจักกัปปวัตนสูตร คือการผูกใจไว้กับพระรัตนตรัย

"ธัมมจักกัปปวัตนสูตร"ด้วยพระสูตรนี้ เป็นพระสูตรบทแรก
จึงมีอานิสงส์ในการสวดมาก  ตามคัมภีร์กล่าวไว้ดังนี้ “ท่านใดได้สวดจะทำให้ชีวิตมีความเจริญรุ่งเรือง ไม่ว่าจะเป็นกิจการงานแขนงใดที่ทำอยู่จะได้เจริญก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น และยังเป็นบทสวดที่ปลดเปลื้องทุกข์ภัยต่างๆ นานาได้อีกด้วย สิ่งเลวร้ายจะกลายมาเป็นแก้วสารพัดนึกขึ้นมาได้และยังจะทำให้ผู้นั้นมีอายุยืน มีความ สุขกาย สุขใจ ปราศจากทุกข์โศก โรคภัย เมื่อได้สวดประจำทุกคืน ทั้งตื่นและหลับจะกลับกลายเป็นมิ่งมงคลแก่ตัวเอง เมื่อยังมีชีวิตอยู่ก็ได้มีความเจริญก้าวหน้าสถาพร ทรัพย์สมบัติข้าวของบริบูรณ์ เมื่อละไปจากโลกจะ ได้ไปอยู่เป็นสุขในสรวงสวรรค์”


ใน นครสูตร นิทาน.สังยุต (๑๖/๑๒๘/๒๕๓.) มีบันทึกว่ามรรคมีองค์ ๘ คือรอยทางเก่าแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ดังมีพระดำรัสตรัสไว้ดังนี้
"...ภิกษุ ท.! ก็รอยทางเก่า ที่เคยเป็นหนทางเก่า อันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายในกาลก่อนเคยทรงดำเนินแล้ว นั้นเป็นอย่างไรเล่า ?
นั่นคืออริยอัฏฐังคิกมรรคนี้นั่นเทียว ได้แก่สิ่งเหล่านี้คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ.
ภิกษุ ท.! นี้แล รอยทางเก่าที่เป็นหนทางเก่า อันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายในกาลก่อนเคยทรงดำเนินแล้ว..."

ดังนั้น การสวดธัมมจักกัปปวัตนสูตร คือการผูกใจไว้กับการตรัสรู้ธรรมของพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต (ซึ่งพระพุทธเจ้าในอดีตที่ตรัสรู้ไปแล้วนั้นมีจำนวนพระองค์มากยิ่งกว่าเมล็ดทรายในท้องพระมหาสมุทรทั้ง ๔)

แต่เพราะเราเกิดมาไม่ทันพบพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน และไม่รู้อนาคตที่แน่นอนในวัฏสงสาร จึงต้องหาหลักประกันว่าเราจะไม่ตกต่ำในการเวียนว่ายตายเกิด ได้เกิดมาพบกับพระพุทธศาสนาในภายภาคหน้า นั่นคือผูกใจไว้กับธัมมจักกัปปวัตนสูตร พระปฐมเทศนาของพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน อันเป็นรอยทางเก่าแห่งการตรัสรู้ธรรมของพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์นั่นเอง
  ดังนั้น เชิญชวนทุกท่านมาสวดมนต์บทธัมมจักกัปปวัตนสูตรกัน ซึ่งเป็นบทสวดที่นิยมกันมากในเมืองไทย ธัมมจักกัปปวัตนสูตร หมายถึง พระสูตรที่หมุนวงล้อแห่งธรรมให้เคลื่อนไป  เป็นพระธรรมเทศนากัณฑ์แรกของพระพุทธเจ้า  ซึ่งทรงแสดงแก่ปัจจวคีย์ทั้ง ๕ พร้อมทั้งเทวดาและพรหมที่ตามไปฟังธรรมด้วยเป็นอันมาก ณ ป่ามฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี

                                                                                    Cr :  Ptreetep Chinungkuro